Chair Person of the Conference of RSUWRD 2020 (DEAN) Bulletin

  • Manus Mongkolsuk, Assoc. Prof.
Keywords: Bulletin

Abstract

วันรังสีเทคนิคโลก (World Radiography Day) (8 พฤศจิกายน ของทุกปี) เป็นวันสำคัญที่กำหนดขึ้นเพื่อรำลึกถึง การค้นพบรังสีเอกซ์ ซึ่งได้รับการค้นพบเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2438 โดยผู้ซึ่งได้รับ รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ในปี 2444 ที่รู้จักกันในนาม วิลเฮล์ม คอนราด เรินต์เกน นับเป็นจุดเริ่มต้นและคุณูปการสำคัญยิ่งในวงการแพทย์ที่รังสีเอกซ์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญตั้งแต่การวินิจฉัยโครงสร้างภายในโดยผู้รับบริการไม่ได้รับความเจ็บปวด จนได้รับการวิจัยต่อยอดนำไปสู่การใช้รังสีเอกซ์เพื่อการรักษารอยโรคต่าง ๆ อาทิ โรคมะเร็ง ทั้งยังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างภาพถ่ายจากการเลี้ยวเบนรังสีเอกซ์ของดีเอ็นเอ โดย โรซาลินด์ เอลซี แฟรงคลิน จนนำไปสู่การค้นพบโครงสร้างเกลียวคู่ของดีเอ็นเอ และเป็นส่วนสำคัญในการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ด้วยวิธีตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ สำหรับวงการรังสีเทคนิคของไทยนั้น ได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการโดย ผศ. นพ. สุพจน์ อ่างแก้ว ในปี 2508 ด้วยการจัดตั้งโรงเรียนรังสีเทคนิคขึ้น เพื่อเป็นแหล่งผลิตนักรังสีเทคนิคที่มีคุณภาพให้กับวงการสาธารณสุขของไทย สำหรับในปี 2563 – 2564 นี้ วิชาชีพรังสีเทคนิคกำลังถูกยกระดับ และนับว่าเป็นพัฒนาการก้าวสำคัญ ด้วยการจัดตั้ง สภาวิชาชีพรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย เพื่อปูทางสู่การพัฒนาทักษะวิชาชีพและวิชาการด้านรังสีเทคนิคให้สอดรับกับพัฒนาการของนานาชาติ

และในปีนี้ คณะรังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย และโรงพยาบาลกรุงเทพ ได้จัดการประชุมวิชาการ วันรังสีเทคนิคโลก (World Radiography Day) ขึ้นภายใต้แนวคิด Elevating Patient Care with ARTIFICIAL INTELLIGENCE: ยกระดับการบริบาลด้วยปัญญาประดิษฐ์ เพื่อสร้างการรับรู้ถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการรังสีเทคนิค อันจะทำให้ผู้เกี่ยวข้องได้เตรียมพร้อมสู่การพัฒนาตนเองเพื่อให้เท่าทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้ยังเป็นการเฉลิมฉลองวาระสำคัญแห่งการสถาปนา คณะรังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยรังสิต ครบรอบ 5 ปี “กึ่งทศวรรษ รังสี-รังสิต จุดความคิด เปลี่ยนสังคม” ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของไทยที่ยกระดับการศึกษาด้านรังสีเทคนิคในสถานะ คณะวิชา ยิ่งไปกว่านั้นการประชุมวิชาการนี้ยังเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับงานวิจัยระดับปริญญาบัณฑิต สาขารังสีเทคนิคของไทย ให้มีความรู้และทักษะด้านการวิจัยเพื่อต่อยอดและพัฒนาทักษะทางวิชาชีพ ซึ่งจะยังประโยชน์อย่างยิ่งต่อคุณภาพชีวิตของคนไทยในภาพรวม

ในนามของคณะผู้จัดงานประชุมวิชาการ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าองค์ความรู้ และงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่ในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้สนใจและวงการวิชาการทางรังสีเทคนิคสืบไป

 
รองศาสตราจารย์มานัส มงคลสุข

คณบดีคณะรังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยรังสิต

Published
2020-10-29