การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของเจลที่มีส่วนประกอบของสารสกัดโสม 36% กับเจล เทรทิโนอิน 0.02% ในการลดริ้วรอยรอบดวงตา
Abstract
บทนำ:บริเวณรอบดวงตาเป็นบริเวณแรกของร่างกายที่แสดงถึงลักษณะความชราภาพของผิวหนัง ผลจากริ้วรอยของผิวหนังบริเวณเปลือกตาส่งผลให้ใบหน้าแลดูเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย สร้างความกังวลใจ ส่งผลกระทบต่อจิตใจและการเข้าสังคมอย่างมาก วิธีการรักษาริ้วรอยรอบดวงตาในปัจจุบันมีหลายวิธี ยาทาที่มีประสิทธิผลและถูกใช้มายาวนานคือยาทาประเภทอนุพันธ์ของวิตามินเอ ได้แก่ เทรทิโนอิน ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ว่ามีประสิทธิผลในการลดริ้วรอย แต่เทรทิโนอินอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้หลายประการ ได้แก่ อาการระคายเคือง อาการแดงและผิวลอก ดังนั้นผู้วิจัยจึงได้ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับสารที่มีประสิทธิผลในการลดริ้วรอยรอบดวงตาและมีผลข้างเคียงน้อย ผู้วิจัยได้ศึกษาพบว่า สารสกัดจากโสม สามารถเพิ่มการสร้างและลดการสลายคอลลาเจน อีกทั้งยังสามารถต้านอนุมูลอิสระ
วัตถุประสงค์:เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการใช้เจลที่มีส่วนประกอบของสารสกัดโสม 36% ในการรักษาริ้วรอยรอบดวงตาเมื่อเปรียบเทียบกับเจลเทรทิโนอิน 0.02%
วิธีการศึกษา:งานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาในอาสาสมัครเพศชายและหญิงอายุระหว่าง 30-60 ปี ที่มีริ้วรอยรอบดวงตาจำนวน 20 คน ได้รับการรักษาโดยสุ่มแบ่งครึ่งซีกหน้าทาเจลที่มีส่วนประกอบของสารสกัดโสม 36% เปรียบเทียบกับเจลเทรทิโนอิน 0.02% บริเวณรอบดวงตา ทาเจลวันละ 2 ครั้ง ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ และมีการประเมินผลในสัปดาห์ที่ 0 4 และ 8 โดยประเมินริ้วรอยด้วย Rao-Goldman 5 point visual scoring scale โดยแพทย์ผู้ทำการวิจัย วัดค่าริ้วรอยด้วยเครื่อง Visioscan®VC98 และใช้แบบสอบถามประเมินผลข้างเคียงที่เกิดจากการรักษา
ผลการศึกษา:อาสาสมัครที่ทำการวิจัยจนครบ 8 สัปดาห์จำนวน 20 คน พบว่าค่าริ้วรอยรอบดวงตาโดยใช้ค่า Rao-Goldman 5-point visual scoring scale บริเวณใต้ตาลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในกลุ่มที่ทาเจลเทรทิโนอิน 0.02% ในสัปดาห์ที่ 8 โดยไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างกลุ่มที่ทาเจลเทรทิโนอิน 0.02% และกลุ่มที่ทาเจลที่มีส่วนประกอบของสารสกัดโสม 36% ค่าริ้วรอยรอบดวงตาโดยใช้ค่า Rao-Goldman 5-point visual scoring scale บริเวณหางตาลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในกลุ่มที่ทาเจลที่มีส่วนประกอบของสารสกัดโสม 36% และกลุ่มที่ทาเจลเทรทิโนอิน 0.02% ในสัปดาห์ที่ 8 โดยไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างสองกลุ่ม และประเมินค่าริ้วรอยด้วยเครื่อง Visioscan พบว่าค่าเฉลี่ยริ้วรอยบริเวณใต้ตาและหางตาลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในกลุ่มที่ทาเจลที่มีส่วนประกอบของสารสกัดโสม 36% และกลุ่มที่ทาเจลเทรทิโนอิน 0.02% ในสัปดาห์ที่ 8 โดยไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างสองกลุ่ม ส่วนผลข้างเคียงพบว่ากลุ่มที่ทาเจลเทรทิโนอิน 0.02% เกิดผลข้างเคียงมากกว่ากลุ่มที่ทาเจลที่มีส่วนประกอบของสารสกัดโสม 36% อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
สรุป:เจลที่มีส่วนประกอบของสารสกัดโสม 36% มีประสิทธิผลในการลดริ้วรอยรอบดวงตาได้ดีใกล้เคียงกับเจลเทรทิโนอิน 0.02% หลังทาเจลนาน 8 สัปดาห์ โดยไม่พบผลข้างเคียงใดๆ
- บทความทุกเรื่องที่ตีพิมพ์เผยแพร่ได้ผ่านการพิจารณาทางวิชาการโดยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชา (Peer review) ในรูปแบบไม่มีชื่อผู้เขียน (Double-blind peer review) อย่างน้อย ๒ ท่าน
- บทความวิจัยที่ตีพิมพ์เป็นข้อค้นพบ ข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนเจ้าของผลงาน และผู้เขียนเจ้าของผลงาน ต้องรับผิดชอบต่อผลที่อาจเกิดขึ้นจากบทความและงานวิจัยนั้น
- ต้นฉบับที่ตีพิมพ์ได้ผ่านการตรวจสอบคำพิมพ์และเครื่องหมายต่างๆ โดยผู้เขียนเจ้าของบทความก่อนการรวมเล่ม