การประเมินความรู้ และพฤติกรรมการป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM 2.5 ของประชากรที่อาศัยอยู่ในตำบลเกาะช้าง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
Abstract
อนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร (Particulate matter 2.5; PM 2.5) เกิดจากการเผาไหม้ทั้งจากยานพาหนะ ไฟป่า และกระบวนการอุตสาหกรรม หากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานานจะสะสมในเนื้อเยื่อปอดทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจได้ ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ ได้กำหนดปริมาณของ PM 2.5 ว่าไม่ควรเกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร แต่ในช่วงระหว่างวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ถึง 19 มีนาคม 2562 พบว่า ในพื้นที่ตำบลเกาะช้าง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีค่าเฉลี่ย PM 2.5 สูงถึง 333.09 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินจากค่ามาตรฐานถึง 6.67 เท่า ประกอบกับภายในพื้นที่ดังกล่าว ยังไม่เคยมีการศึกษาวิจัยใดๆ เกี่ยวกับความรู้ตลอดจนทักษะการปฏิบัติในการป้องกันตนเองจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก ดังนั้น การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและประเมินความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมเกี่ยวกับการป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM 2.5 ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ก่อนและหลังได้รับการให้การอบรมและติดตามผลอีก 1 สัปดาห์ โดยสุ่มกลุ่มตัวอย่างจากจำนวนประชากรทั้งหมด 8,836 คน และคำนวณขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางของ Krejcie และ Morgan ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 404 คน ซึ่งเข้ารับการอบรม “ให้ความรู้ สร้างเสริมทัศนคติ และพฤติกรรมที่ถูกต้องเกี่ยวกับการป้องกันตนเองจาก PM 2.5” และใช้แบบสอบถามซึ่งพัฒนาขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องและปรับให้เหมาะสมกับการศึกษานี้ เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ในช่วงเดือนเมษายน 2562 โดยแบบสอบถาม แบ่งเป็น 4 ส่วน คือส่วนข้อมูลทั่วไปมี 5 ข้อ และส่วนที่ประเมินความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมเกี่ยวกับการป้องกันตนเองจาก PM 2.5 อย่างละ 10 ข้อ โดยจะประเมินผล 3 ครั้ง คือ ก่อนและหลังเข้าร่วมการให้การอบรมและการติดตามผล 1 สัปดาห์ แบ่งคะแนนเป็นระดับสูง ปานกลาง และต่ำ ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ เป็นเพศชาย (ร้อยละ 52.2) อายุ 41–60 ปี (ร้อยละ 66.09) จบชั้นประถมศึกษา (ร้อยละ 62.1) และเป็นเกษตรกร (ร้อยละ 52.7) การวิเคราะห์ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า หลังจากเข้าร่วมการให้การอบรมและติดตามผลอีก 1 สัปดาห์ กลุ่มตัวอย่างมีระดับความรู้ และพฤติกรรมเกี่ยวกับการป้องกันตนเองจาก PM 2.5 สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.05) ซึ่งอาจเป็นเพราะในระหว่างและหลังการให้การอบรม มีการใช้ช่องทางการแจ้งเตือนที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มความรู้ สร้างความตระหนักและเสริมความคงอยู่ของความรู้ และพฤติกรรมที่เหมาะสมที่เกี่ยวกับการป้องกันตนเองจาก PM 2.5 ได้
- บทความทุกเรื่องที่ตีพิมพ์เผยแพร่ได้ผ่านการพิจารณาทางวิชาการโดยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชา (Peer review) ในรูปแบบไม่มีชื่อผู้เขียน (Double-blind peer review) อย่างน้อย ๒ ท่าน
- บทความวิจัยที่ตีพิมพ์เป็นข้อค้นพบ ข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนเจ้าของผลงาน และผู้เขียนเจ้าของผลงาน ต้องรับผิดชอบต่อผลที่อาจเกิดขึ้นจากบทความและงานวิจัยนั้น
- ต้นฉบับที่ตีพิมพ์ได้ผ่านการตรวจสอบคำพิมพ์และเครื่องหมายต่างๆ โดยผู้เขียนเจ้าของบทความก่อนการรวมเล่ม