ความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายของโรงเรียนเอกชน
Abstract
การให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์เป็นความสามารถสำคัญซึ่งเป็นพื้นฐานของการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ข้อมูลจากการศึกษาเกี่ยวกับความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์จะช่วยให้เราสามารถส่งเสริมและพัฒนานักเรียนให้กลายเป็นผู้รู้วิทยาศาสตร์อย่างมีเป้าหมาย การวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ในแต่ละองค์ประกอบซึ่งสามารถนำมาเป็นข้อมูลในการนำไปพัฒนาและส่งเสริมความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ของนักเรียน โดยมีตัวอย่างเป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่กำลังศึกษาอยู่ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 31 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบวัดความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ ที่มีค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.89 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติบรรยาย ผลการวิจัยสรุปได้ว่า นักเรียนมีคะแนนความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์เฉลี่ยร้อยละ 27.34 เมื่อพิจารณาความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์แยกรายองค์ประกอบ พบว่าองค์ประกอบการระบุสิ่งที่สงสัยจากการสังเกตมีคะแนนเฉลี่ยร้อยละสูงที่สุดเท่ากับ ร้อยละ 63.98 และองค์ประกอบการให้เหตุผลเชิงความน่าจะเป็น มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละต่ำที่สุดเท่ากับ ร้อยละ 8.60 เมื่อจัดกลุ่มนักเรียนตามระดับความซับซ้อนในการให้เหตุผลพบว่า นักเรียนมีความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์อยู่ในระดับซับซ้อนน้อยจำนวน 24 คน ระดับซับซ้อนบางส่วนจำนวน 7 คน และไม่พบนักเรียนที่มีความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์อยู่ในระดับซับซ้อนมาก ผลการวิจัยสะท้อนให้เห็นว่า นักเรียนกลุ่มตัวอย่างพอที่จะมีพื้นฐานในการระบุสิ่งที่สงสัยจากการสังเกตซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของการให้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ แต่มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการพัฒนาให้สูงขึ้น และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาความสามารถในการให้เหตุผลในองค์ประกอบด้านอื่นต่อไป
- บทความทุกเรื่องที่ตีพิมพ์เผยแพร่ได้ผ่านการพิจารณาทางวิชาการโดยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชา (Peer review) ในรูปแบบไม่มีชื่อผู้เขียน (Double-blind peer review) อย่างน้อย ๒ ท่าน
- บทความวิจัยที่ตีพิมพ์เป็นข้อค้นพบ ข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนเจ้าของผลงาน และผู้เขียนเจ้าของผลงาน ต้องรับผิดชอบต่อผลที่อาจเกิดขึ้นจากบทความและงานวิจัยนั้น
- ต้นฉบับที่ตีพิมพ์ได้ผ่านการตรวจสอบคำพิมพ์และเครื่องหมายต่างๆ โดยผู้เขียนเจ้าของบทความก่อนการรวมเล่ม