เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลของไทย : กรณีศึกษานโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งของไทย ในช่วงปี พ.ศ.2546 – พ.ศ.2561
Abstract
งานวิจัยมีวัตถุประสงค์ในการศึกษาถึงกระบวนการกำหนดโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งของไทย บทบาทและกระบวนการแสวงหาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลของกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ในการผลักดันให้เกิดนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งของไทย ในช่วงปี พ.ศ.2546 – พ.ศ.2561 ผู้วิจัยได้สร้างกรอบแนวคิดจากการประยุกต์แนวคิดทฤษฎีกระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งแบ่งปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่มีส่วนร่วมในการผลักดันนโยบายเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ระบบทุนนิยมโลก โครงสร้างส่วนบนของระบบเศรษฐกิจ อุปทานและอุปสงค์ของนโยบาย โดยใช้แนวคิดทฤษฎีรัฐเศรษฐศาสตร์ อธิบายพฤติกรรมของรัฐบาลที่มีผลโดยตรงต่อการกำหนดนโยบาย และใช้แนวคิดทฤษฎีกลุ่มผลประโยชน์ อธิบายพฤติกรรมของกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอิทธิพลในการผลักดันนโยบาย ผลการวิจัยพบว่า นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งของไทย เริ่มต้นเป็นรูปธรรมในปี พ.ศ.2546 ผ่านโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “Unseen in Thailand มุมมองใหม่ เมืองไทย” โดยมีการเปิดตัวและประชาสัมพันธ์ถึงสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยทั้งหมด 48 แห่ง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่ง 11 แห่ง ซึ่งเป็นโครงการที่ก่อตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ในการกระตุ้นให้เกิดแรงขับเคลื่อนด้านอุปสงค์ในประเทศ เพื่อบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่จากวิกฤตต้มยำกุ้งปี พ.ศ.2540 และความอึมครึมของภาวะสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิรัก โดยโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้เข้าประเทศได้จำนวนมาก จึงมีการจัดทำโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งขึ้นในแต่ละปีอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งกลับไม่ได้สร้างผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลให้กับคนไทยเท่าที่ควร เนื่องจากแรงผลักดันในการออกนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งของไทยที่ผ่านมา เกิดจากกลุ่มผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเป็นหลัก อย่างกลุ่มธุรกิจการบิน กลุ่มนายทุนธุรกิจทัวร์ท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มทุนต่างชาติ ทำให้คนไทยที่เป็นเจ้าของพื้นที่ไม่ได้รับประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น อีกทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นปริมาณมากในเขตท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่ง โดยขาดการควบคุมดูแลการเข้าใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งเสื่อมโทรมลงทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ
- บทความทุกเรื่องที่ตีพิมพ์เผยแพร่ได้ผ่านการพิจารณาทางวิชาการโดยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชา (Peer review) ในรูปแบบไม่มีชื่อผู้เขียน (Double-blind peer review) อย่างน้อย ๒ ท่าน
- บทความวิจัยที่ตีพิมพ์เป็นข้อค้นพบ ข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนเจ้าของผลงาน และผู้เขียนเจ้าของผลงาน ต้องรับผิดชอบต่อผลที่อาจเกิดขึ้นจากบทความและงานวิจัยนั้น
- ต้นฉบับที่ตีพิมพ์ได้ผ่านการตรวจสอบคำพิมพ์และเครื่องหมายต่างๆ โดยผู้เขียนเจ้าของบทความก่อนการรวมเล่ม