ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความภักดีของนักท่องเที่ยวเพศทางเลือก (LGBT) ต่อการท่องเที่ยวในเขตเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี
Abstract
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความภักดีของนักท่องเที่ยวเพศทางเลือก (LGBT) ต่อการท่องเที่ยวในเขตเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โดยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรด้านประชากรศาสตร์ ด้านพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว การรับรู้คุณค่า ภาพลักษณ์ และความภักดีต่อจุดหมายปลายทาง กลุ่มตัวอย่าง คือ นักท่องเที่ยวเพศทางเลือก (LGBT) ชาวไทยที่เคยเข้ามาท่องเที่ยวในเขตเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี การศึกษาครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงผสมผสาน (Mixed Methods Research) โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลของการวิจัยเชิงปริมาณ คือแบบสอบถาม จำนวน 400 คน และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์ความแปรปรวน (ANOVA), ใช้สถิติ ANOVA, T-Test, F-Test และ Regression สำหรับการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้แบบสัมภาษณ์จำนวน 20 ชุด และใช้ผลการสัมภาษณ์นำมาวิเคราะห์สรุปประเด็นเชิงเนื้อหา โดยผลการศึกษาจะนำมาประมวลผล และวิเคราะห์แยกผล
ผลการศึกษาพบว่านักท่องเที่ยวที่มีลักษณะประชากรศาสตร์ด้านอายุ รายได้ และระดับการศึกษา มีความภักดีต่อการท่องเที่ยวแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ยกเว้นด้านอาชีพมีความภักดีต่อการท่องเที่ยวไม่แตกต่างกัน ในด้านพฤติกรรมนักท่องเที่ยว ได้แก่ จำนวนครั้งที่มาท่องเที่ยวในเขตเมืองพัทยา และระยะเวลาในการท่องเที่ยวมีความภักดีต่อการท่องเที่ยวแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ในขณะที่ลักษณะการเดินทาง และยานพาหนะที่ใช้ในการเดินทางไม่แตกต่างกัน ด้านภาพลักษณ์ของเมืองพัทยาที่มีผลต่อความภักดีของนักท่องเที่ยวเพศทางเลือก (LGBT) ต่อเมืองพัทยาเรียงลำดับดังนี้ (1) ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก (2) ด้านความสามารถในการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว (3) ด้านสิ่งดึงดูดใจแหล่งท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และการรับรู้คุณค่าจากการท่องเที่ยวที่มีผลต่อความภักดีของนักท่องเที่ยวเพศทางเลือก (LGBT) ต่อเมืองพัทยาเรียงลำดับดังนี้ (1) ตัวแปรด้านประสบการณ์คุ้มค่า (2) ตัวแปรด้านความคุ้มค่าเวลา (3)ตัวแปรด้านความคุ้มค่าเงิน ตามลำดับ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
- บทความทุกเรื่องที่ตีพิมพ์เผยแพร่ได้ผ่านการพิจารณาทางวิชาการโดยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชา (Peer review) ในรูปแบบไม่มีชื่อผู้เขียน (Double-blind peer review) อย่างน้อย ๒ ท่าน
- บทความวิจัยที่ตีพิมพ์เป็นข้อค้นพบ ข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนเจ้าของผลงาน และผู้เขียนเจ้าของผลงาน ต้องรับผิดชอบต่อผลที่อาจเกิดขึ้นจากบทความและงานวิจัยนั้น
- ต้นฉบับที่ตีพิมพ์ได้ผ่านการตรวจสอบคำพิมพ์และเครื่องหมายต่างๆ โดยผู้เขียนเจ้าของบทความก่อนการรวมเล่ม