แนวทางการพัฒนาแอปพลิเคชั่นฐานข้อมูลนักดนตรีในเขตกรุงเทพมหานคร
Abstract
การศึกษาวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ 1) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และพฤติกรรมการหางานของนักดนตรีในเขตกรุงเทพมหานคร 2) เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคของผู้ว่าจ้างด้านการสรรหานักดนตรีที่ต้องการในเขตกรุงเทพมหานคร 3) เพื่อสร้างแนวทางการพัฒนาแอปพลิเคชั่นฐานข้อมูลนักดนตรีในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยแบบผสมผสานระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพ และเชิงปริมาณ สำหรับการวิจัยเชิงคุณภาพนั้น เป็นการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหาร และการตลาดในธุรกิจดนตรี จำนวน 3 ราย และ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาแอปพลิเคชั่น จำนวน 3 ราย ในส่วนของการวิจัยเชิงปริมาณ ผู้วิจัยได้ทำการเก็บแบบสอบถามจำนวน 400 ฉบับ จากกลุ่มนักดนตรีในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 400 ราย เพื่อใช้สำหรับวิเคราะห์ข้อมูล สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ประกอบด้วย การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
จากผลการวิจัยที่กล่าวมาข้างต้น ปัญหาที่พบจากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหาร และการตลาดในธุรกิจดนตรีคือ ผู้ว่าจ้างไม่รู้จักวงดนตรีที่หลากหลาย จึงมีข้อจำกัดในตัวเลือก ในขณะที่ข้อมูลในแบบสอบถามแสดงให้เห็นว่านักดนตรีส่วนใหญ่อาศัยการหางานผ่านการแนะนำจากบุคคลรู้จัก ผู้วิจัยได้ข้อสรุปว่า เทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในแอปพลิเคชั่น เพื่อเพิ่มข้อจำกัดในตัวเลือกให้แก่ผู้ว่าจ้างในการสรรหานักดนตรีที่ต้องการ และสามารถช่วยแนะนำและหางานแสดงให้นักดนตรีโดยผ่านแอปพลิเคชั่น ทั้งหมดนี้ เพื่อนำมาแก้ปัญหาและอุปสรรคในการหางานของนักดนตรี และการสรรหานักดนตรีที่ต้องการของผู้ว่าจ้าง เพื่อสร้างแนวทางการพัฒนาแอปพลิเคชั่นฐานข้อมูลนักดนตรีในเขตกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ ยังเพิ่มช่องทางการหางานให้แก่นักดนตรี เพิ่มความหลากหลายในการเลือกนักดนตรีให้แก่ผู้ว่าจ้าง และสามารถนำไปเป็นต้นแบบในการต่อยอดธุรกิจแอปพลิเคชั่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- บทความทุกเรื่องที่ตีพิมพ์เผยแพร่ได้ผ่านการพิจารณาทางวิชาการโดยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชา (Peer review) ในรูปแบบไม่มีชื่อผู้เขียน (Double-blind peer review) อย่างน้อย ๒ ท่าน
- บทความวิจัยที่ตีพิมพ์เป็นข้อค้นพบ ข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนเจ้าของผลงาน และผู้เขียนเจ้าของผลงาน ต้องรับผิดชอบต่อผลที่อาจเกิดขึ้นจากบทความและงานวิจัยนั้น
- ต้นฉบับที่ตีพิมพ์ได้ผ่านการตรวจสอบคำพิมพ์และเครื่องหมายต่างๆ โดยผู้เขียนเจ้าของบทความก่อนการรวมเล่ม