จริยธรรมการตีพิมพ์บทความลงในวารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

            วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นวารสารวิชาการที่รับตีพิมพ์บทความวิจัย บทความวิชาการ บทความแนะนำหนังสือโดยมุ่งเน้นมาตรฐานพฤติกรรมด้านจริยธรรมควบคู่กับการเผยแพร่     งานวิชาการ ทั้งนี้กองบรรณาธิการวารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มีหลักเกณฑ์จริยธรรมสำหรับบรรณาธิการ ผู้ประเมินบทความและผู้เขียนบทความ ดังนี้

            1.หน้าที่ของบรรณาธิการ

                        1.1 พิจารณาบทความ

                                    วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตรับตีพิมพ์บทความที่ไม่เคยตีพิมพ์ในวารสารใดมาก่อน ในเบื้องต้นบรรณาธิการจะเป็นผู้ประเมินเนื้อหาและคุณภาพของบทความอย่างยุติธรรมก่อนพิจารณาหาผู้ประเมินบทความที่มีความเหมาะสมและเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาเพื่อตรวจพิจารณาบทความต่อไป

                        1.2 ตรวจสอบการละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา

                                    บรรณาธิการจะตรวจสอบกระบวนการอ้างอิง การคัดลอกข้อความ การละเมิด ลิขสิทธิ์ทางปัญญาในรูปแบบต่างๆ เช่น ข้อความ รูปภาพ แผนภูมิ แผนภาพ ฯลฯ ทั้งนี้จะนำโปรแกรม   การตรวจสอบการละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญามาใช้ในการตรวจสอบบทความที่ลงตีพิมพ์ในวารสารด้วย รวมทั้งตรวจสอบเรื่องจริยธรรมในมนุษย์อย่างเข้มงวด

                        1.3 การรักษาความลับ

                                    บรรณาธิการจะไม่เปิดเผยเนื้อหาของบทความก่อนการตีพิมพ์รวมทั้งไม่เปิดเผยข้อเสนอแนะจากผู้ประเมินให้บุคคลอื่นรับทราบ จะเปิดเผยเฉพาะให้ผู้เขียนบทความรับทราบเท่านั้น นอกจากนี้บรรณาธิการจะรักษาข้อมูลประจำตัวของผู้เขียนบทความและผู้ประเมินบทความให้เป็นความลับทั้งหมด

                        1.4 ป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน

                                    บรรณาธิการจะพิจารณาบทความที่ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยเช่นเดียวกับบทความทั่วไปเพื่อป้องกันเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนโดยไม่นำระบบอุปถัมภ์และเรื่องการค้าเข้ามาแทรกแซงการพิจารณาบทความ รวมถึงระมัดระวังไม่ให้เกิดการแทรกแซงและการเรียกรับผลประโยชน์จากที่ปรึกษางานวิจัย เจ้าของวารสาร ผู้จัดพิมพ์และสมาชิกในกองบรรณาธิการ

 

  1. หน้าที่ของผู้ประเมินบทความ

                        2.1 มีส่วนร่วมในการตัดสินใจของกองบรรณาธิการ

                                    ผู้ประเมินบทความมีหน้าที่ช่วยเหลือและให้คําแนะนําแก่บรรณาธิการและกองบรรณาธิการเกี่ยวกับการตัดสินใจในการรับพิจารณาหรือเผยแพร่บทความ นอกจากนี้ผู้ประเมินบทความต้องให้ข้อเสนอแนะที่จะช่วยให้ผู้เขียนบทความสามารถปรับปรุงคุณภาพบทความให้ดีขึ้นได้

                        2.2 การรักษาความลับ

                                    ผู้ประเมินบทความจำเป็นต้องรักษาความลับในการพิจารณาบทความและจะไม่ปรึกษานักวิจัยหรือบุคคลอื่นเกี่ยวกับบทความนั้นๆ จนกว่าจะได้รับการตีพิมพ์ จะไม่นำส่วนใดๆ ที่ยังไม่ได้เผยแพร่ในบทความไปอ้างอิงหรืออ้างถึง การอ้างอิงหรืออ้างถึงส่วนใดๆ ต้องได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้เขียนและกองบรรณาธิการเท่านั้น

2.3 มาตรฐานความเป็นกลาง

                                    ผู้ประเมินบทความต้องมีความเป็นกลางและเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ ต้องยึดหลักวิชาการ รวมทั้งมีความคิดเห็นที่มีหลักฐานสนับสนุนเพื่อทำให้บทความมีคุณภาพ

                        2.4 การเปิดเผยข้อมูลและผลประโยชน์ทับซ้อน

                                    ผู้ประเมินบทความต้องไม่เรียกร้องผลประโยชน์ใดๆ ผู้ประเมินบทความต้องไม่รับพิจารณาบทความที่ตนเองมีผลประโยชน์ร่วมกับผู้เขียน องค์กร และสถาบันที่มีความเกี่ยวข้องกับบทความนั้นๆ

  1. 3. หน้าที่ของผู้เขียนบทความ

3.1 บทบาทของผู้เขียนบทความ

                                    ผู้เขียนบทความต้องรับผิดชอบต่อบทความของตนเอง รวมทั้งมีหน้าที่นำเสนอเนื้อหา ตรวจทานเนื้อหา จัดเรียงรายชื่อเอกสาร ตรวจสอบการละเมิดลิขสิทธิ์เบื้องต้นและส่งบทความตามกระบวนการของวารสาร

3.2 ความคิดริเริ่มและการตรวจสอบการละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา

          บทความที่ส่งเข้ามาเพื่อดำเนินการตีพิมพ์ในวารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต จะต้องไม่ได้รับการตีพิมพ์มาก่อนหรือต้องไม่อยู่ในระหว่างการพิจารณาตีพิมพ์กับวารสารอื่น ผู้เขียนบทความต้องตรวจสอบการเขียนบทความต้นฉบับให้ถูกต้อง ในกรณีที่ผู้เขียนบทความอ้างคําพูดของบุคคลอื่นจำเป็นต้องมีการอ้างอิงอย่างเหมาะสม หากกองบรรณาธิการพบว่าผู้เขียนบทความมีการลอกเลียนแบบ ปลอมแปลงหรือทำการอ้างอิงที่ไม่ถูกต้อง กองบรรณาธิการสามารถปฏิเสธบทความนั้นๆ ได้ทันที วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตมีอำนาจในการใช้โปรแกรมตรวจสอบการลอกเลียนแบบเพื่อตรวจจับการลอกเลียนแบบสําหรับการคัดกรองบทความที่ส่งเข้ามาได้

   3.3 กระบวนการวิจัยในมนุษย์

                        ในกรณีที่มีการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผู้เข้าร่วม / อาสาสมัคร ผู้เขียนบทความจะต้องตรวจสอบกระบวนการทำวิจัยว่าเป็นข้อบังคับที่ชอบด้วยกฎหมายหรือเกี่ยวข้องและเป็นไปตามแนวทางของสถาบันตนเองหรือไม่ ผู้เขียนจะต้องแจ้งรายละเอียดในบทความว่าได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมสําหรับการวิจัยในมนุษย์จากสถาบันของตนเองเรียบร้อยแล้วและผู้เขียนต้องแนบหลักฐานการอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมสําหรับการวิจัยในมนุษย์จากสถาบันของตนเองมาพร้อมกับบทความด้วย

3.4 การเปิดเผยข้อมูลและผลประโยชน์ทับซ้อน

                        ผู้เขียนต้องแจ้งรายละเอียดของแหล่งทุนวิจัย ผู้เขียนต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ทับซ้อนโดยไม่นำระบบอุปถัมภ์และเรื่องการค้าเข้ามาแทรกแซงในการนำเสนอบทความ รวมถึงระมัดระวังไม่ให้เกิดการแทรกแซงและนำเสนอผลประโยชน์จากแหล่งทุนวิจัยหรือบุคคลอื่นใดที่อาจได้รับผลประโยชน์ จากการนำเสนอบทความ