กลวิธีการใช้ภาษาในสมุดพระตำหรับขี่ช้างสมัยรัชกาลที่ 2

##plugins.themes.bootstrap3.article.main##

วริศรา โกรทินธาคม

Abstract

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลวิธีการใช้ภาษาที่ปรากฏในสมุดพระตำหรับขี่ช้างสมัยรัชกาลที่ 2 โดยวิธีการศึกษาเริ่มจากการสำรวจต้นฉบับเอกสารโบราณในหมวดตำราคชกรรมของหอสมุดแห่งชาติซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 60 ฉบับ พบสมุดพระตำหรับขี่ช้างจำนวน 2 ฉบับ เป็นฉบับที่มีการระบุศักราชเก่าที่สุดตรงกับช่วงสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คือ เอกสารเลข 75 มัด 8 และเอกสารเลข 85 มัด 9 จากนั้นจึงทำการปริวรรตจากภาษาไทยโบราณมาเป็นภาษาไทยปัจจุบัน แล้วจึงวิเคราะห์กลวิธีการใช้ภาษาตามที่ปรากฏในเอกสารโบราณดังกล่าว


ผลการศึกษาพบว่า สมุดพระตำหรับขี่ช้างสมัยรัชกาลที่ 2 ทั้ง 2 ฉบับมีการนำเสนอเนื้อหาสามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ การเริ่มต้น การบรรยายเนื้อหา และการลงท้าย กลวิธีการใช้ภาษาที่พบมีดังนี้ 1) การเริ่มต้น จะเริ่มต้นด้วยคำว่า “สิทธิการิยะ” เพื่อเป็นการเพิ่มความเข้มขลังและเคารพครูบาอาจารย์ 2) การบรรยายเนื้อหา แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 2.1) การนำเสนอเนื้อหาซึ่งใช้วิธีการอธิบายเชิงพรรณนา และ 2.2) การใช้ภาษาในการนำเสนอเนื้อหา ซึ่งสามารถแยกย่อยได้เป็น 2.2.1) การเริ่มเนื้อหา พบการเริ่มเนื้อหาใน 2 ลักษณะ ได้แก่ การเริ่มด้วยคำว่า“อันว่า” และเริ่มด้วยคำที่บ่งบอกเนื้อหาเรื่องใหม่เรื่องนั้น และ 2.2.2) การจบเนื้อหา พบ 3 ลักษณะ ได้แก่ การจบเนื้อหาด้วยคำ การจบไปโดยเนื้อหาเรื่องนั้น และการจบโดยระบุชื่อของเรื่องนั้น 3) การลงท้าย พบว่าไม่ได้มีรูปแบบที่สม่ำเสมอ พบเพียงการจบเล่มโดยลงท้ายด้วยข้อความว่า “ท่านกล่าวไว้ดังนี้แล” เพื่อบอกให้ทราบว่าเนื้อหาจบสมบูรณ์แล้ว

##plugins.themes.bootstrap3.article.details##

Section
บทความวิชาการ