การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตทุเรียนสดเพื่อส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา กรณีศึกษา บริษัท ACT จำกัด
Abstract
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดปัญหาที่เกิดความเสียหายกับสินค้า ผู้วิจัยได้ศึกษาแนวคิดของหลักการปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตผักและผลไม้สดพร้อมบริโภค (GMP) โดยนำมาประยุกต์ใช้ในการวางผังการผลิตให้มีมาตรฐานและการปฏิบัติที่ถูกสุขลักษณะ จากปัญหาแรก ทุเรียนเป็นเมือก มีรสชาติเปรี้ยว ได้นำหลักปฏิบัติตาม GMP มาปรับใช้และได้ศึกษากระบวนการผลิตโดยใช้แผนภูมิการไหลเพื่อวิเคราะห์กระบวนการที่ก่อให้เกิดความสูญเปล่า ทำให้สินค้ามีโอกาสเกิดความเสียหายจึงนำแนวคิดการลดความสูญเปล่า (7 Waste) ตามหลักของลีนมาประยุกต์ใช้และมีการลดระยะเวลาในการผลิตลงเพื่อให้สินค้าถึงผู้บริโภคเร็วขึ้นและรักษาคุณภาพของสินค้า จากการปรับปรุงแก้ไขสามารถกำจัดปัญหาทุเรียนเป็นเมือก มีรสชาติเปรี้ยวได้ร้อยละ 100 ลดระยะเวลาในการรอคอยก่อนการจัดเก็บสินค้าได้ร้อยละ 70 และลดระยะทางในการเคลื่อนย้ายสินค้าได้ร้อยละ 57 ปัญหาที่สอง มีน้ำขังในบรรจุภัณฑ์ ได้ศึกษาแนวคิดการจัดการระบบสายโซ่ความเย็น โดยมีการควบคุมอุณหภูมิความเย็นในระหว่างการขนส่ง ส่งผลให้สามารถควบคุมอุณหภูมิความเย็นได้เพิ่มขึ้น 8 ชั่วโมง กำจัดปัญหามีน้ำขังในบรรจุภัณฑ์ได้ร้อยละ 100 และปัญหาที่สาม ทุเรียนแข็งและมีรสชาติจืด ได้ศึกษาการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีตัวบ่งชี้บอกระดับความสุกของทุเรียน เพื่อปรับปรุงปัญหาทุเรียนแข็งและมีรสชาติจืด สามารถกำจัดปัญหาทุเรียนแข็งและมีรสชาติจืดได้ร้อยละ 89 จากการนำแนวคิดในแต่ละด้านมาประยุกต์และปรับใช้สำหรับการแก้ไขปัญหา ส่งผลให้มีมูลค่าความเสียหายลดลง 2,184,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 98
- บทความทุกเรื่องที่ตีพิมพ์เผยแพร่ได้ผ่านการพิจารณาทางวิชาการโดยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชา (Peer review) ในรูปแบบไม่มีชื่อผู้เขียน (Double-blind peer review) อย่างน้อย ๒ ท่าน
- บทความวิจัยที่ตีพิมพ์เป็นข้อค้นพบ ข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนเจ้าของผลงาน และผู้เขียนเจ้าของผลงาน ต้องรับผิดชอบต่อผลที่อาจเกิดขึ้นจากบทความและงานวิจัยนั้น
- ต้นฉบับที่ตีพิมพ์ได้ผ่านการตรวจสอบคำพิมพ์และเครื่องหมายต่างๆ โดยผู้เขียนเจ้าของบทความก่อนการรวมเล่ม