Publication Ethics

 

จริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการ

วารสารการพยาบาลและสุขภาพ สสอท. ยึดมั่นตามมาตรฐานด้านจริยธรรมในการตีพิมพ์ โดยขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรฐานด้านจริยธรรม ดังต่อไปนี้

บทบาทหน้าที่ของบรรณาธิการ

  1. พิจารณาและตรวจสอบบทความที่ส่งเข้ารับการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสาร ให้มีเนื้อหาของบทความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และขอบเขตของวารสาร
  2. ตรวจสอบคุณภาพของบทความบนพื้นฐานของหลักการและเหตุผลทางวิชาการโดยปราศจากอคติ ก่อนพิจารณาตีพิมพ์บทความในวารสาร
  3. เผยแพร่บทความที่มีมาตรฐาน น่าเชื่อถือ ไม่คัดลอกผลงานผู้อื่น (Plagiarism) หากเป็นบทความวิจัยต้องมีระเบียบวิธีวิจัยที่ถูกต้อง ได้รับการรับรองจริยธรรมการวิจัย หากตรวจพบการคัดลอกผลงานผู้อื่นต้องติดต่อผู้นิพนธ์เพื่อแจ้งเหตุผลของการปฏิเสธการตีพิมพ์ หรือการถอดถอนบทความหากบทความนั้นตีพิมพ์ไปแล้ว โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้นิพนธ์
  4. ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้นิพนธ์ และผู้ประเมินบทความ รวมทั้งไม่เปลี่ยนแปลงการตัดสินใจในการตอบรับบทความที่ถูกปฏิเสธการตีพิมพ์ไปแล้ว ยกเว้นมีเหตุผลอันสมควร หรือเกิดจากปัญหาด้านเทคนิคของระบบการจัดการวารสาร
  5. รักษามาตรฐานของวารสาร และพัฒนาให้วารสารมีคุณภาพเสมอ 

บทบาทหน้าที่ของผู้นิพนธ์บทความ

  1. ผลงานที่ส่งพิจารณาตีพิมพ์ ต้องไม่เคยตีพิมพ์ เผยแพร่ หรืออยู่ระหว่างเสนอเพื่อพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารฉบับอื่น
  2. เนื้อหาในผลงานวิชาการ ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ได้จากการศึกษาวิจัยของผู้นิพนธ์ โดยไม่ปลอมแปลง บิดเบือน ตกแต่ง สร้างข้อมูลเท็จ หรือเลือกแสดงเฉพาะข้อมูลที่สอดคล้องกับข้อสรุป หากข้อมูลมาจากผลงานของผู้อื่น ต้องอ้างอิงแหล่งที่มาทุกครั้ง และต้องไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่น
  3. ตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาและรายการอ้างอิง ทั้งในแง่รูปแบบและเนื้อหาของผลงานที่ส่งพิจารณาตีพิมพ์ รวมทั้งต้องปรับรูปแบบของบทความตามแบบฟอร์มของวารสาร
  4. ผลงานวิจัย ต้องได้รับการรับรองจริยธรรมการวิจัย พร้อมระบุเลขที่การรับรองในบทความที่ส่งพิจารณาตีพิมพ์
  5. ดำเนินการตามขั้นตอนของวารสาร เพื่อช่วยให้ผลงานวิชาการที่นำมาตีพิมพ์มีคุณภาพตามมาตรฐาน

บทบาทหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ

  1. มีความรู้ ความเข้าใจ และ/หรือ ความเชี่ยวชาญในสาขาที่สอดคล้องกับผลงานวิชาการที่รับพิจารณา
  2. พิจารณาคุณภาพของบทความบนพื้นฐานของหลักการและเหตุผล ปราศจากอคติ
  3. ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์ และไม่แสวงหาผลประโยชน์จากผลงานที่ตนเองได้ประเมิน รวมทั้งไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความแก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ในช่วงเวลาที่พิจารณาคุณภาพบทความ
  4. หากพบข้อมูลการลอกผลงานของผู้อื่นในบทความที่พิจารณา ต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบทันที
  5. ควรรักษาเวลาในการพิจารณาบทความ ตามกรอบเวลาที่วารสารกำหนด

นโยบายจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์

บทความวิจัยที่ส่งเพื่อพิจารณาตีพิมพ์ในระบบของวารสารที่เกี่ยวข้องกับการทำวิจัยในมนุษย์ ต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยของสถาบันที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานการวิจัยในคน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และเป็นไปตามมาตรฐานจริยธรรมและกฎหมายสากล โดยผู้นิพนธ์ต้องระบุชื่อหน่วยงานที่รับรองจริยธรรมการวิจัย และเลขที่รับรองในบทความวิจัยให้ชัดเจน วารสารคาดหวังให้ผู้นิพนธ์เคารพสิทธิ์ความเป็นส่วนตัวของผู้เข้าร่วมการวิจัย และได้รับความยินยอมให้นำข้อมูลมาเผยแพร่ก่อนส่งบทความเพื่อพิจารณาตีพิมพ์ในวารสาร รวมทั้งดำเนินการวิจัยตามมาตรฐานจริยธรรมการวิจัยอย่างเคร่งครัด

 นโยบายการจัดการผลประโยชน์ทับซ้อน

วารสารมีนโยบายหลีกเลี่ยงการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนในกลุ่มกองบรรณาธิการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้นิพนธ์ทุกท่าน เพื่อให้การตีพิมพ์บทความมีความโปร่งใสทางวิชาการ ดังนั้นหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อบทความ ผู้นิพนธ์ต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบข้อมูลความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรทางเมลของวารสาร หรือผ่านทางการส่งข้อความผ่านระบบของวารสาร