การตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหาเรื่องขนาดพื้นที่การจัดเก็บสินค้าที่เหมาะสม กรณีศึกษา บริษัท ABC Packaging จำกัด
Abstract
การศึกษาค้นคว้าอิสระนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอแนวทางการตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหาเรื่องขนาดพื้นที่การจัดเก็บสินค้าให้เหมาะสม กรณีศึกษาบริษัท ABC Packaging จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ประเภทกล่องกระดาษ จากการนำข้อมูลของสินค้าที่มีการนำเข้าและออกจากคลังสินค้าในช่วงเดือนมกราคม 2561 ถึงเดือนตุลาคม 2562 มาวิเคราะห์เพื่อหาปริมาณสินค้าคงคลังเฉลี่ยในแต่ละเดือน พบว่าสินค้าคงคลังมีปริมาณสูงกว่าพื้นที่คลังสินค้าจะสามารถรองรับได้และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้ศึกษาข้อมูลและนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา 2 แนวทาง คือ 1. การขยายพื้นที่คลังสินค้าภายในพื้นที่บริษัทฯ 2. การฝากสินค้ากับผู้ให้บริการในบริเวณใกล้เคียง บริษัทฯ โดยแนวทางที่ 2 จะแบ่งออกเป็น 2 กรณีตามปริมาณสินค้าที่จะฝาก คือ 2.1 ปริมาณการฝากสินค้าคงที่ 2.2 ปริมาณการฝากสินค้าในอัตราที่เพิ่มขึ้น
จากการศึกษาต้นทุนพบว่า การขยายพื้นที่คลังสินค้ามีต้นทุนต่ำกว่าการฝากสินค้ากับผู้ให้บริการในบริเวณใกล้เคียง โดยการฝากสินค้ามีต้นทุนเท่ากับการขยายพื้นที่คลังสินค้าในปีที่ 12 และ 8 ตามลำดับ แต่เนื่องจากผลการประมาณการปริมาณสินค้าพบว่า การขยายพื้นที่คลังสินค้าจะสามารถรองรับสินค้าได้เพียง 2 ปี หลังจากนั้นบริษัทจะมีต้นทุนในการแก้ไขปัญหาเพิ่มขึ้น ดังนั้นหากคำนวณต้นทุนในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ การขยายคลังสินค้าจะมีต้นทุนเท่ากับ 13,798,955 บาท ส่วนกรณีฝากสินค้าในปริมาณคงที่จะมีต้นทุนเท่ากับ 6,277,248 บาท และกรณีฝากสินค้าในอัตราที่เพิ่มขึ้นจะมีต้นทุนเท่ากับ 6,625,984 บาท จะเห็นได้ว่าการฝากสินค้ามีต้นทุนที่ต่ำกว่าการขยายพื้นที่คลังสินค้าและเป็นแนวทางที่เหมาะสมมากกว่า
- บทความทุกเรื่องที่ตีพิมพ์เผยแพร่ได้ผ่านการพิจารณาทางวิชาการโดยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชา (Peer review) ในรูปแบบไม่มีชื่อผู้เขียน (Double-blind peer review) อย่างน้อย ๒ ท่าน
- บทความวิจัยที่ตีพิมพ์เป็นข้อค้นพบ ข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนเจ้าของผลงาน และผู้เขียนเจ้าของผลงาน ต้องรับผิดชอบต่อผลที่อาจเกิดขึ้นจากบทความและงานวิจัยนั้น
- ต้นฉบับที่ตีพิมพ์ได้ผ่านการตรวจสอบคำพิมพ์และเครื่องหมายต่างๆ โดยผู้เขียนเจ้าของบทความก่อนการรวมเล่ม