แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการสินค้าคงคลัง กรณีศึกษา: บริษัท ABC จำกัด
Abstract
บทความนี้นำเสนอกรณีศึกษาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการสินค้าคงคลังของบริษัท ABC จำกัด จากการสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง พบว่าสาเหตุที่ทำให้การดำเนินงานของบริษัทขาดประสิทธิภาพ คือ มีสินค้าคงคลังปริมาณสูง การกระจายสินค้ามีต้นทุนค่าขนส่งซ้ำซ้อน และสินค้าสูญหายจากกระบวนการรับคืนสินค้า ซึ่งแต่ละปัญหาได้มีแนวทางและผลการศึกษาดังนี้ ด้านปริมาณสินค้าคงคลัง ได้ทำการพยากรณ์ด้วยวิธีการ Moving Average นำผลจากการพยากรณ์ไปคำนวณหาปริมาณการสั่งซื้อที่ประหยัดและจุดสั่งซื้อใหม่ที่เหมาะสมของสินค้าแต่ละประเภท เพื่อใช้กำหนดนโยบายการจัดการสินค้าคงคลัง พบว่าสามารถลดต้นทุนสินค้าคงคลังเป็นจำนวนเงิน 261,695 บาทต่อปี คิดเป็น 29.87 % ด้านการขนส่งสินค้า มีแนวทางการปรับปรุง คือ เปลี่ยนรูปแบบการกระจายสินค้าโดยการยกเลิกคลังย่อยและใช้การขนส่งตรงไปยังพนักงานขาย และกำหนดปริมาณสินค้าที่พนักงานขายควรทำการจัดเก็บ จากการศึกษาโดยใช้แบบจำลองสถานการณ์และจัดเส้นทางการเดินรถด้วยวิธี Saving Algorithm จะทำให้มีต้นทุนรวมลดลงจาก 63,327.30 บาท/เดือน เป็น 16,971.00 บาท/เดือน คิดเป็น 73.20%และด้านสินค้าสูญหายจากกระบวนการส่งคืน ได้ทำการปรับปรุงขั้นตอนการทำงานและจัดงานให้เหมาะสมต่อหน้าที่ เพิ่มมาตรฐานการส่งคืนสินค้าด้วยการเพิ่มเอกสารส่งคืนสินค้าและการติดบาร์โค้ดรหัสสินค้า จากการเก็บข้อมูลหลังการปรับปรุงตั้งแต่เดือน มกราคม ถึง กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เป็นเวลา 2 เดือน พบว่าสามารถลดเวลาในการรับสินค้าเฉลี่ยจาก 8 วันเป็น 1 วัน และอัตราส่วนความผิดพลาดด้านข้อมูลลดลงจาก 8% เป็น 0.26% ไม่มีสินค้าสูญหายจากการรับคืนสินค้าเกิดขึ้น กรณีเกิดปัญหาสามารถตรวจสอบความผิดพลาดและสาเหตุของปัญหาได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น
- บทความทุกเรื่องที่ตีพิมพ์เผยแพร่ได้ผ่านการพิจารณาทางวิชาการโดยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชา (Peer review) ในรูปแบบไม่มีชื่อผู้เขียน (Double-blind peer review) อย่างน้อย ๒ ท่าน
- บทความวิจัยที่ตีพิมพ์เป็นข้อค้นพบ ข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนเจ้าของผลงาน และผู้เขียนเจ้าของผลงาน ต้องรับผิดชอบต่อผลที่อาจเกิดขึ้นจากบทความและงานวิจัยนั้น
- ต้นฉบับที่ตีพิมพ์ได้ผ่านการตรวจสอบคำพิมพ์และเครื่องหมายต่างๆ โดยผู้เขียนเจ้าของบทความก่อนการรวมเล่ม