การทดสอบประสิทธิภาพตลาดโดยใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคด้วย Moving Average RSI และ ADX
Abstract
การศึกษาอิสระเรื่อง “การทดสอบประสิทธิภาพตลาดโดยใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคด้วย Moving Average RSI และ ADX” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิค หาผลตอบแทนเกินปกติจากการลงทุน (Abnormal Return) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเลือกใช้เครื่องมือทางเทคนิค คือ EMA (Exponential Moving average) RSI (Relative Strength Index) และ ADX (Average Directional Index) ในการหาสัญญาณการซื้อ-ขาย เนื่องจากมีกรณีศึกษาได้แก่ Test of Global Market Efficiency ของ Chu Frank Shui Ting และ The Profitability of a Combined Signal Approach: Bollinger Bands and the ADX ของ Shawn Lim Tilman T. Hisarli และ Ng Shi He พบว่าเครื่องมือทางเทคนิคทั้ง 3 ประเภท สามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงกกว่ากรลงทุนแบบปกติได้
ทำการศึกษาเครื่องมือทางเทคนิคแต่ละเครื่องมือ และทำการศึกษาเครื่องมือทางเทคนิคร่วมกันมากกว่า 1 เครื่องมือขึ้นไป โดยเลือกใช้สัญญาซื้อขายล่วงหน้า SET50 Index Future เป็นตราสารอนุพันธ์ที่นำมาศึกษาเนื่องจากนักลงทุนสามารถทำการ Short Sell ได้ และมีค่าธรรมเนียมต่ำกว่าการซื้อขายดัชนี SET50 Index ซึ่งข้อมูลที่นำมาใช้ในการศึกษา คือ ราคาสูงสุด ราคาต่ำสุด และราคาปิดราย 15 นาที ของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า SET50 Index Future ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2556 ถึง วันที่ 30 ธันวาคม 2559 และทำการทดสอบสมมติฐานว่า ผลต่างระหว่างผลตอบแทนเฉลี่ยรายปีที่ได้จากการซื้อ-ขายตามสัญญาณทางเทคนิคทั้ง 7 รูปแบบ กับผลตอบแทนเฉลี่ยรายเดือนที่ได้จากการซื้อแล้วถือ มีค่ามากกว่าศูนย์หรือไม่ ด้วยการทดสอบที (T-Test) ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 และ 0.01
การศึกษาพบว่าการนำเครื่องมือทางเทคนิคที่มีองค์ประกอบของ Moving Average, RSI และ ADX มาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลช่วงเวลา 15 นาที และสามารถทำการ Short Sell ได้ บนดัชนี SET50 Index Future โดยทำการศึกษาทั้งกรณีที่คิดค่าธรรมเนียมในการซื้อ-ขาย และในกรณีที่ไม่คิดค่าธรรมเนียมในการซื้อขาย โดยกรณีที่คิดค่าธรรมเนียมในการซื้อ-ขายในอัตราปกติ การใช้เครื่องมือทางเทคนิค Moving Average และ Moving Average + RSI สามารถสร้างผลตอบแทนรวมได้สูงกว่าการลงทุนแบบปกติ และกรณีที่ไม่คิดค่าธรรมเนียมในการซื้อ-ขาย การใช้เครื่องมือทางเทคนิคทั้ง 7 รูปแบบ มีเพียง RSI รูปแบบเดียวเท่านั้นที่ไม่สามารถสร้างผลตอนแทนรวมได้มากกว่าการลงทุนแบบปกติ
อย่างไรก็ตามเมื่อนำข้อมูลที่ได้ทั้ง 2 กรณีมาทดสอบทางสถิติแล้ว พบว่าการใช้เครื่องมือทางเทคนิคทั้ง 7 รูปแบบ ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนรายเดือนที่สูงกว่าการลงทุนแบบปกติได้อย่างมีนัยสำคัญ หรือสรุปได้ว่าตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) มีประสิทธิภาพในระดับต่ำ
- บทความทุกเรื่องที่ตีพิมพ์เผยแพร่ได้ผ่านการพิจารณาทางวิชาการโดยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชา (Peer review) ในรูปแบบไม่มีชื่อผู้เขียน (Double-blind peer review) อย่างน้อย ๓ ท่าน
- บทความวิจัยที่ตีพิมพ์เป็นข้อค้นพบ ข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนเจ้าของผลงาน และผู้เขียนเจ้าของผลงาน ต้องรับผิดชอบต่อผลที่อาจเกิดขึ้นจากบทความและงานวิจัยนั้น
- ต้นฉบับที่ตีพิมพ์ได้ผ่านการตรวจสอบคำพิมพ์และเครื่องหมายต่างๆ โดยผู้เขียนเจ้าของบทความก่อนการรวมเล่ม