แนวทางการแก้ไขปัญหาการหลอมรวมวัฒนธรรมองค์กรเชิงผสม ทหาร - พลเรือน ของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ
Abstract
กระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีหน่วยงานราชการอยู่ภายใต้บังคับบัญชา ได้แก่ สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และหน่วยงานที่เป็นองค์การมหาชนอยู่ภายใต้บังคับบัญชา ได้แก่ องค์การทหารผ่านศึก (องค์การมหาชน) และ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ
ในที่นี้ได้กล่าวถึงสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงกลาโหม ที่มีวัฒนธรรมผสมระหว่างทหารและพลเรือนที่แตกต่างกัน โดยปัจจุบันพบปัญหาหลายประการที่จะต้องศึกษาและแก้ปัญหาเพื่อหลอมรวมวัฒนธรรมของพนักงานในองค์กรที่มีจากหลากหลายวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นจากองค์กรเอกชน รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และราชการ ให้เป็นวัฒนธรรมอันหนึ่งอันเดียวกัน
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องศึกษาเหตุและผล ตลอดจนวิธีการซึ่งเป็นสูตรสำเร็จที่จะทำให้เกิดวัฒนธรรมเชิงผสม ระหว่างทหาร - พลเรือน สามารถยอมรับกฎเกณฑ์ กติกาเดียวกันได้อย่างสนิทใจ เพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนองค์กรและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศร่วมกันต่อไป ซึ่งในการวิจัยนี้ได้ใช้วิธีการศึกษา การเก็บข้อมูลทั้งในเชิงคุณภาพโดยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก และเชิงปริมาณโดยการทำแบบสอบถามในมุมมองด้านวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ตลอดจนเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาโดยการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย หัวข้อที่ใช้ในการสัมภาษณ์แบบเชิงลึกเพื่อทำการวิเคราะห์ให้ครบทุกด้าน เพื่อนำมาทำแบบสอบถามและวิเคราะห์โดยใช้วิธีค่าเฉลี่ยเลขคณิตของข้อมูลที่แจกแจงความถี่
จากการศึกษาพบว่าการหลอมรวมวัฒนธรรรมแบบใช้นโยบายเชิงผสม เป็นวิธีที่ดีที่สุดแม้ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่มีศักยภาพมากที่สุด แต่เป็นวิธีที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด โดยใช้การแก้ปัญหาบนพื้นฐานความเป็นจริงมากที่สุด การทำงานยังคงอยู่ภายใต้กรอบนโยบายแต่จะมีอิสระในการเสนอความคิดในการทำงานมากขึ้น ความล้ำเหลื่อมยังคงอยู่ แต่ก็สามารถถูกปรับและหลอมรวมให้ยอมรับตามสภาวะแห่งความเป็นจริง ทั้งนี้จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนและแนวทางของการศึกษานี้อย่างครบทุกกระบวนการไม่ว่าจะเป็น การตั้งดัชนีชี้วัดความสำเร็จในการแก้ปัญหาก็ดี ปัจจัยแห่งความสำเร็จก็ดี ตลอดจนการดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานก็ดี เหล่านี้คือกุญแจที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาวัฒนธรรมขององค์กรได้อย่างสมบูรณ์
- บทความทุกเรื่องที่ตีพิมพ์เผยแพร่ได้ผ่านการพิจารณาทางวิชาการโดยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชา (Peer review) ในรูปแบบไม่มีชื่อผู้เขียน (Double-blind peer review) อย่างน้อย ๒ ท่าน
- บทความวิจัยที่ตีพิมพ์เป็นข้อค้นพบ ข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนเจ้าของผลงาน และผู้เขียนเจ้าของผลงาน ต้องรับผิดชอบต่อผลที่อาจเกิดขึ้นจากบทความและงานวิจัยนั้น
- ต้นฉบับที่ตีพิมพ์ได้ผ่านการตรวจสอบคำพิมพ์และเครื่องหมายต่างๆ โดยผู้เขียนเจ้าของบทความก่อนการรวมเล่ม