การหามูลค่าของสัญญาออปชันมลภาวะทางอากาศด้วยวิธีแบบจำลองต้นไม้ทวินาม
Abstract
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้ประสบปัญหาทางด้านมลภาวะทางอากาศ หนึ่งในนั้นคือค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ซึ่งส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจในหลาย ๆ ด้าน เช่น การท่องเที่ยว และการบริการ เป็นต้น ในแต่ละปีค่าฝุ่นละอองนี้ส่งผลกระทบเป็นระยะเวลาหลายเดือน และทุก ๆ ปี มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับกิจการ อาจใช้เครื่องมือทางด้านการเงิน เช่น ตราสารอนุพันธ์ ซึ่งในการศึกษาครั้งนี้จะใช้สัญญาออปชัน และทำการหามูลค่าของสัญญาออปชันมลภาวะทางอากาศ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการ Ornstein-Uhlenbeck ในการสร้างแบบจำลองค่าเฉลี่ยดัชนีคุณภาพอากาศ โดยทำการศึกษาค่าเฉลี่ยดัชนีคุณภาพอากาศของจังหวัดกรุงเทพมหานคร ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ถึง 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เนื่องจากกรุงเทพมหานคร เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญในเชิงธุรกิจ และการท่องเที่ยว จากนั้นนำค่าที่ได้จากแบบจำลอง มาใช้ในการหามูลค่าของสัญญาออปชันมลภาวะทางอากาศ ด้วยวิธีแบบจำลองต้นไม้ทวินาม
จากการศึกษาพบว่ากระบวนการ Ornstein-Uhlenbeck นั้นมีแนวโน้มที่ใกล้เคียงกับค่าจริง แต่ยังมีความคลาดเคลื่อนในส่วนของความผันผวนอยู่ ซึ่งเมื่อนำค่าเฉลี่ยดัชนีคุณภาพอากาศที่ได้จากการเก็บรวบรวม และได้จากแบบจำลองมาทำการหามูลค่าของออปชันด้วยแบบจำลองต้นไม้ทวินาม ทั้งคอลออปชัน และพุทออปชัน จะเห็นได้ว่ามูลค่าที่ได้มีค่าใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะกรณีของออปชันที่อายุสัญญา 6 เดือน
- บทความทุกเรื่องที่ตีพิมพ์เผยแพร่ได้ผ่านการพิจารณาทางวิชาการโดยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชา (Peer review) ในรูปแบบไม่มีชื่อผู้เขียน (Double-blind peer review) อย่างน้อย ๒ ท่าน
- บทความวิจัยที่ตีพิมพ์เป็นข้อค้นพบ ข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนเจ้าของผลงาน และผู้เขียนเจ้าของผลงาน ต้องรับผิดชอบต่อผลที่อาจเกิดขึ้นจากบทความและงานวิจัยนั้น
- ต้นฉบับที่ตีพิมพ์ได้ผ่านการตรวจสอบคำพิมพ์และเครื่องหมายต่างๆ โดยผู้เขียนเจ้าของบทความก่อนการรวมเล่ม